- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 04 December 2015 09:55
- Hits: 5326
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล`เผยร่างพรบ.กำกับดูแลและบริหาร รสก. คาดมีผลบังคับใช้กลางปี 59
"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" เผยร่างพรบ.กำกับดูแล และบริหารรสก. คาดมีผลบังคับใช้กลางปี 59 ด้าน KTB อาจเปลี่ยนโฉมบอร์ดแบงก์ยกชุด หนุนการสรรหาคนดำรงตำแหน่งโปร่งใส
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และในฐานะคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ให้พิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอให้ครม.พิจารณา โดยคาดว่าร่าง พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้ในกลางปี2559
สาเหตุที่มีการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยจะเน้นในเรื่องการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของบริษัทรัฐวิสาหกิจ 12 บริษัท เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจ้างงาน รวมถึงรัฐวิสาหกิจถือครองสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงและสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ การคมนาคม ฯลฯ แต่ผลการดำเนินงานขาดทุนเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ซึ่งการที่จะมีการกำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจเพราะที่ผ่านมาปัญหาของรัฐวิสาหกิจคือ ถูกแทรกแซงจากการเมืองและผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการไม่มีความรู้ความสามารถในองค์กรนั้น และผู้ที่มีบทบาทกำกับดูแลและบริหารเป็นหน่วยงานของภาครัฐ
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTB กล่าวว่า เมื่อมีการร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐเสร็จ และมีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (ซุปเปอร์โฮลดิ้ง) เสร็จคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยได้ในปีหน้า ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและอยากให้มีการดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากซุปเปอร์บอร์ดจะมีการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของบริษัทอย่างโปร่ง และคุณสมบัติของคณะกรรมการจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับธนาคาร จะทำให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันของ KTB ถือว่ามีประสิทธิภาพไม่มีปัญหา โดยการเติบโตของธนาคารที่ไม่มากนักเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยจะต้องมีการชี้แจงให้พนักงานทราบ เพราะทุกคนต้องการทราบว่าจะมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอย่างไร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย